
หลายภาคส่วนตั้งคำถามนับถอยหลังเปิดประเทศต่อจากนี้ที่เหลืออีก 115 วัน หรือจะเริ่มเปิดประเทศอย่างเป็นทางการคือภายในเดือนตุลาคม 2564 นี้ ทางรัฐบาลมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด และจะสามารถทำได้จริงหรือไม่
ปิดประเทศท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติ ต้องทำใจอย่างหนึ่งว่า มันจะยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ นอกจากฉีดวัคซีน สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ต่างๆ และเทคโนโลยี เรื่องการติดตามนักท่องเที่ยวต้องพร้อม
วิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการแพร่ระบาดที่ผ่านๆ มา ก็เกี่ยวข้องกับคนในรัฐบาลทั้งสิ้น ช่วงต้นไทยควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ แต่กลับกลายเป็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบันประเทศอื่นฟื้น ในไทยกลับระบาดซ้ำแล้วซ้ำอีก
กรณีสาธารณรัฐเซเชลส์ที่ฉีดวัคซีนไปราว 70% ของประชากร (มีประชากรแค่ 100,000 กว่าคน) แต่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ พอเปิดรับนักท่องเที่ยว ปรากฏว่าวันเดียวมีผู้ติดเชื้อถึง 500 คน คุณภาพวัคซีนก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากฉีดไปแล้วไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ก็จะทำให้เกิดการระบาดรวดเร็ว
แม้วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ยกคณะรัฐมนตรีบางส่วนลงพื้นที่ไปจังหวัดภูเก็ต เปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อเป็นการทดลองก่อนเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ โดยตั้งเป้าในไตรมาส 3 (เดือนกรกฎาคม – เดือนกันยายน 64) จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยประมาณ 100,000 คน สร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 8.9 พันล้านบาท แต่หลังจากเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้ไม่ถึงสัปดาห์ กลับพบคลัสเตอร์ใหม่ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดเทศบาลเมืองกะทู้ต้องปิดโรงเรียนถึง 4 แห่ง เป็นเวลา 14 วัน เนื่องจากพบผู้ปกครองและนักเรียนติดโควิด-19 หลังได้รับการตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา