
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบ 4 ประเด็นควบคุมโรคโควิด 19 ได้แก่ การเปิดประเทศอย่างปลอดภัยภายใต้มาตรการควบคุมโรคแนวใหม่, Bubble and seal ในโรงงาน/สถานประกอบกิจการ, ร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ แนวทางปฏิบัติพาหนะจากต่างประเทศที่จะเข้ามาประเทศไทยทางบก/เรือ/อากาศ พร้อมสนับสนุนให้มีผู้แทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดร่วมประชุมในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
วันนี้ (23 ส.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2564 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ UHOSNET โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ ร่วมการประชุมและประชุมผ่านระบบออนไลน์
ทั้งนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของไทยในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อคงตัว วันนี้มีผู้ติดเชื้อใหม่ 19,014 ราย รักษาหาย 20,672 ราย เป็นผลจากมาตรการต่างๆ เช่น การล็อคดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม การตรวจค้นหาเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK และนำเข้าระบบการรักษาที่บ้าน/ชุมชน การเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงให้ครอบคลุม ตั้งแต่เดือนนี้มีวัคซีนเข้ามาเพิ่มทั้งไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค ส่งไปทั่วประเทศ ขณะนี้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 27 ล้านโดส ผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มคิดเป็นร้อยละ 28 โดยวันนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้หารือ 4 ประเด็นสำคัญในการควบคุมโรคโควิด 19 คือ
1. การเปิดประเทศอย่างปลอดภัยภายใต้มาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ (Smart Control and Living with Covid-19) เตรียมเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านภาวะวิกฤต มีเป้าหมายเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ให้จำนวนผู้ป่วยหนักไม่เกินศักยภาพระบบสาธารณสุขรองรับได้ ใช้กลยุทธ์ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรง รวมถึงการพัฒนาวัคซีนใหม่อย่างครบวงจร มาตรการ DMHTT และ Universal Prevention เพิ่มการทำงานเชิงรุกด้วยหน่วยเยี่ยมบ้านเคลื่อนที่ (CCRT) ใน กทม. ปริมณฑล และพื้นที่ระบาด ให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจโควิดด้วยตัวเอง และคัดกรองด้วย Antigen Test Kit
2. เห็นชอบหลักการมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) สำหรับสถานประกอบกิจการในพื้นที่ที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ใช้แนวคิดกลุ่มคนที่แข็งแรงและอยู่เป็นกลุ่มในพื้นที่จำกัด ไม่ปะปนกับบุคคลภายนอก ใช้การสุ่มตรวจเพื่อประเมินสถานการณ์ ถ้าพบการติดเชื้อเกินร้อยละ 10 แยกไปรักษาที่ รพ.สนาม และเฝ้าระวังคนที่เหลือให้สามารถทำงานต่อไปได้ เมื่อครบ 28 วัน ตรวจภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ตรวจพบภูมิคุ้มกันจะสามารถทำงานต่อไป กลับบ้านได้ ผลดีคือ ไม่ต้องปิดโรงงาน แรงงานได้ค่าจ้าง เศรษฐกิจไปต่อได้ โดยมีกลไกด้านการสื่อสารทำความเข้าใจ ให้คำแนะนำและระบบพี่เลี้ยง
ด้านกำกับประเมินผล ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย