
ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
หากเอ่ยถึงนโยบายเศรษฐกิจ คงชวนให้คิดไปถึงตัวเลขชี้วัดภาวะ ในภาพใหญ่ๆ อาทิ GDP เงินเฟ้อ งบประมาณ ภาษี ดุลการค้า อัตราแลกเปลี่ยน หรืออัตราดอกเบี้ย แต่เมื่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้รับอิทธิพลจากปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทันที หรือค่อยเป็นค่อยไป ทั้งพฤติกรรมการดำรงชีพ การใช้งานเทคโนโลยี การคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการปรับตัวด้านสาธารณสุขหลังเกิดวิกฤติโควิด-19
นโยบายเศรษฐกิจ ที่จะตอบโจทย์พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ คือ การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เพียงพอต่อความต้องการที่มีอยู่ไม่จำกัด จึงไม่อาจวิเคราะห์เพียงตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคได้อีกต่อไป แต่ต้องกำหนดเป้าหมายการพัฒนาการอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลง หรือที่ขออนุโลมเรียกรวมๆว่า นโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันเป็นกลไกหลัก
และวันนี้จึงขออนุญาตแลกเปลี่ยนตัวอย่างการขับเคลื่อนนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจที่ผู้เขียนมีโอกาสเรียนรู้อย่างใกล้ชิดตลอดช่วงสามปี ภายใต้คณะอนุกรรมการสภาพัฒน์ ด้านการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่มุ่งตอบโจทย์ความทั่วถึงและยั่งยืนของไทย
ประเด็นแรกคือ การเพิ่มรายได้และการจ้างงานหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านการสร้างองค์ความรู้ และการจัดทำ White Paper “แนวทางการปรับโครงสร้างตลาดแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ซึ่งถอดบทเรียนการหางานพร้อมพัฒนาทักษะของต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อน “แพลตฟอร์มไทยมีงานทำ” เป็นกลไกสร้างงานและเอื้อให้รัฐและเอกชนร่วมกันออกแบบมาตรการรักษาการจ้างงานรายย่อยและมาตรการ Co-payment ในช่วงวิกฤติ
โดยในวันที่ 14 ก.ย.65 ได้มีการลงนามความร่วมมือ 52 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะรวมในระบบ “E-Workforce Ecosystem” ที่ครอบคลุม E-portfolio ข้อมูลประวัติบุคคลและการประเมินทักษะ E-Coupon สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทักษะ Digital Credit Bank เชื่อมโยงภาคการศึกษา และ Job Matching จับคู่คนหางานและผู้ประกอบการ ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการแก้ปัญหาด้านกำลังคนอย่างครบวงจรในระยะยาว